วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

กระบวนงานฝึกอบรมสัมมนา

ชื่อความรู้          กระบวนงานฝึกอบรมสัมมนา
เจ้าของความรู้   นางสาวแสงอรุณ  ชวนงูเหลือม
ตำแหน่ง            เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน
สังกัด     ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา
              สถาบันการพัฒนาชุมชนกรมการพัฒนาชุมชน  กรมการพัฒนาชุมชน

          การจัดฝึกอบรม/สัมมนาที่ดีและมีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีการวางแผนการดำเนินงานอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน จำเป็นต้องแจงรายละเอียดของงานและโครงการทั้งหมดให้ผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานได้ทราบอย่างละเอียด เพื่อจะได้ทราบว่างานใดจำเป็นต้องดำเนินการก่อน งานใดที่สามารถดำเนินการไปพร้อมกับงานใดและงานใดจำเป็นต้องรอให้งานอื่นเสร็จเรียบร้อยก่อนจึงดำเนินการได้ ซึ่งผู้ปฏิบัติงานสามารถเข้าใจงานในโครงการและปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์ และเป็นมาตรฐานเดียวกันของหน่วยงาน กระบวนการจัดการฝึกอบรม สัมมนา มีแนวทางและขั้นตอนดังนี้
ส่วนขยาย
แนวทางและขั้นตอนกระบวนการฝึกอบรมสัมมนา มีดังนี้
1.   เตรียมการก่อนดำเนินการจัดฝึกอบรม/สัมมนา
การฝึกอบรมสัมมนา จะดำเนินการประสบความสำเร็จได้ต้องดำเนินการดังนี้
1.1 ขออนุมัติโครงการ
                                เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณโครงการต่าง ๆ จากกรมฯ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการสามารถดำเนินการขออนุมัติดำเนินงานโครงการ ได้ทันที โดยไม่ต้องรอเวลาให้ใกล้ช่วงของการจัดฝึกอบรม/สัมมนา
                             การขออนุมัติโครงการให้เขียนภาพรวมของโครงการทั้งหมด โดยให้ครอบคลุมทุกกิจกรรมของโครงการที่จะต้องเนินการทั้งหมด ชื่อโครงการ หน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการ อธิบายหลักการเหตุผล วัตถุประสงค์ของโครงการ กำหนดคุณสมบัติผู้เข้ารับการฝึกอบรม กำหนดกลุ่มเป้าหมายจำนวนผู้เข้ารับการฝึกอบรม ขั้นตอนการดำเนินการฝึกอบรม ระยะเวลาดำเนินการฝึกอบรม กำหนดการฝึกอบรม สถานที่ฝึกอบรม ตารางการฝึกอบรมแผนการสอนกำหนดวิทยากร งบประมาณค่าใช้จ่าย รูปแบบ/กิจกรรมที่ใช้ในการฝึกอบรม ผู้รับผิดชอบโครงการ ตัวชี้วัดและผลที่คาดว่าจะได้รับ
     1.2 ขออนุมัติดำเนินงานโครงการ
                      ทำหนังสือบันทึกเสนอผู้บังคับบัญชาเพื่อลงนามและขออนุมัติดำเนินงานโครงการ
อนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่าย จัดทำคำสั่งแต่งตั้งผู้รับผิดชอบโครงการ คำสั่งแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ คำสั่งวิทยากร            ทำหนังสือถึงผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามโครงการ
                         1.3 การเตรียมการดำเนินการตามโครงการ
                                 เมื่อได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการโครงการฝึกอบรม สัมมนา และอนุมัติให้ใช้เงินแล้ว            โดยดำเนินการในขั้นตอนการเตรียมการก่อนดำเนินการจัดฝึกอบรม/สัมมนาดังนี้
            -  จัดประชุมเจ้าหน้าที่ผู้ที่เกี่ยวข้องรับทราบถึงหน้าที่ที่ได้รับผิดชอบ
  -  ติดต่อประสานเชิญวิทยากรที่จะมาให้ความรู้แก่ผู้เข้าฝึกอบรม สัมมนา กำหนดตารางวิชาฝึกอบรม พร้อมจัดทำหนังสือเชิญวิทยากร ประชุมสัมมนา ห้องพัก ห้องอาหาร(อาหาร อาหารว่างแลเครื่องดื่ม) ห้องฝึกอบรม สถานที่ทำกิจกรรม  ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ 
  -  ทำหนังสือประสานผู้เข้าร่วมเข้าร่วมการประชุมสัมมนา
  -  การเตรียมการสถานที่ฝึกอบรม ทำหนังสือขอใช้สถานที่ฝึกอบรมหรือสถานที่ศึกษาดูงาน     
  -  จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ ที่ใช้ในการฝึกอบรมเอกสารประกอบการบรรยาย สื่อประกอบการบรรยาย  Power PointDVD  ฯลฯ เช่น ป้ายชื่อโครงการ ประชุมสัมมนา ป้ายชื่อวิทยากร ป้ายชื่อผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนา ป้ายบอกทางไปยังห้องประชุมสัมมนา ป้ายลงทะเบียน เอกสารสำหรับผู้เข้าอบรม จัดเตรียมแฟ้มเอกสาร/อุปกรณ์สำหรับแจกผู้เข้าอบรม เช่น ( สมุดโน๊ต ปากกา ดินสอ ฯลฯ ) จัดเตรียมวัสดุ  อุปกรณ์ ที่ใช้ในการฝึกปฏิบัติหรือแบ่งกลุ่มอภิปราย/ฝึกปฏิบัติ (กระดาษฟาง,ปากกาเคมี,กระดาษกาวย่น  ฯลฯ)
- การรับลงทะเบียน จัดเตรียมแฟ้มบัญชีรายชื่อสำหรับผู้เข้าฝึกอบรมสำหรับเซ็นชื่อลงทะเบียน   การแจกเอกสาร การเก็บเงิน และการสรุปผล
- จัดทำบันทึกขออนุมัติยืมเงินราชการ
                               - การขออนุมัติเดินทางไปราชการ และขออนุมัติใช้รถยนต์ราชการ (กรณีจัดอบรมนอกสถานที่)  
                   - จัดเตรียมรายละเอียดด้านการเงิน แบบลงทะเบียนผู้เข้าอบรม ใบสำคัญรับเงิน ค่าสมนาคุณวิทยากร แบบฟอร์มการเขียนรายงานการเดินทาง กรณีมีการเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จากหน่วยงานผู้จัด ณ สถานที่จัดฝึกอบรม/สัมมนา
                   - จัดทำคำกล่าวรายงาน กล่าวเปิด/กล่าวปิด
                   - ทำหนังสือเชิญประธาน/ผู้กล่าวรายงาน พร้อมแนบคำกล่าวรายงาน คำกล่าวเปิด
                     - ทำหนังสือเชิญผู้มีเกียรติร่วมพิธีเปิด-ปิด 
                   - ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง จ้างทำเอกสาร จ้างเหมารถบัสโดยสาร  จ้างเหมาจัดนิทรรศการ                 ซื้อวัสดุสำนักงาน
          2. การดำเนินการระหว่างการจัดฝึกอบรม/สัมมนา 
                   - จัดเตรียมสถานที่ฝึกอบรม โต๊ะ เก้าอี้ ห้องประชุม
                   - ตรวจสอบป้ายข้อความที่ติดในห้องอบรม ตรวจอุปกรณ์เครื่องเสียง ไมโครโฟน โสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ ให้มีความพร้อมก่อนที่จะเริ่มใช้งาน
                   - อำนวยความสะดวกให้แก่วิทยากร และผู้เข้ารับการฝึกอบรม
                   - ลำดับขั้นตอน พิธีเปิด พิธีปิด แนะนำองค์กร สถานที่ แนะนำวิทยากร ทีมผู้ประสานงานโครงการ
- ชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ของการฝึกอบรมในแต่ละวันให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมทราบ ชี้แจงรายละเอียดกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน
- จัดกิจกรรมนันทนาการ ให้กับผู้เข้าอบรม เพื่อสร้างบรรยากาศและความคุ้นเคย ในระหว่างการฝึกอบรม
- จัดเตรียมอาหาร เครื่องดื่ม ให้เพียงพอ และเหมาะสมในแต่ละวัน
- ระหว่างการฝึกอบรมสังเกตพฤติกรรมผู้เข้ารับการฝึกอบรม การให้ความสนใจ การมีส่วน ร่วม การรักษาระเบียบวินัย และ ความรับผิดชอบของผู้เข้ารับการฝึกอบรม - สังเกตการถ่ายทอดความรู้ของวิทยากรในแต่ละวัน การบรรยายเนื้อหาสอดคล้องกับหัวข้อ วิชา วัตถุประสงค์ที่กำหนดหรือไม่ เทคนิคการถ่ายทอดและการบรรยาย ฯลฯ
                   - เก็บรวบรวมเอกสารใบสำคัญค่าตอบแทนวิทยากร ค่าพาหนะ สำหรับวิทยากรในแต่ละวัน
                   - เก็บรวบรวมแบบทดสอบก่อนและหลังการอบรม แบบประเมินวิทยากร แบบประเมินผล โครงการ
                   - เตรียมใบวุฒิบัตรสำหรับผู้ผ่านการอบรม
          3. การดำเนินการหลังการฝึกอบรม
                    - สรุปค่าใช้จ่าย ขออนุมัติเบิกเงินค่าใช้จ่ายในการจัดฝึกอบรม                            
                    - จัดทำหนังสือขอบคุณวิทยากร และแนบสรุปผลการประเมินวิทยากร
นำแบบประเมินวิทยากร/ประเมินโครงการมาวิเคราะห์และสรุปผลจัดทำรายงานผลการ ฝึกอบรมเสนอผู้บริหารเป็นรูปเล่ม
- สรุปรายงานการติดตามประเมินผลนำข้อมูลที่ได้ไปปรับปรุง พัฒนาหลักสูตรต่อไป

ส่วนสรุป
              การพัฒนาบุคลากรขององค์กรจะเจริญก้าวหน้าหากมีบุคลากรที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ และมีความพร้อมในการปฏิบัติงาน การพัฒนาบุคลากรส่วนมากหน่วยงานจะดำเนินการโดยวิธีการจัดฝึกอบรม สัมมนา ให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งในแต่ละปีได้มีการจัดฝึกอบรมหลายหลักสูตร และในการดำเนินการจัดฝึกอบรมนั้นมีขั้นตอนที่ต้องเตรียมการ และดำเนินการหลายขั้นตอน หากผู้ปฏิบัติหน้าที่ในการจัดการฝึกอบรมได้ทราบ และมีการเตรียมการที่ดีก็จะช่วยให้การจัดฝึกอบรมดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อให้การดำเนินงานฝึกอบรม สัมมนา บรรลุผลสำเร็จและมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดกระบวนงานฝึกอบรม/สัมมนาเพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงานต่อไป

ที่อยู่/ เบอร์โทรศัพท์  ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา เลขที่ 114 หมู่ 2 ตำบลแหลมทอง อำเภอหนองบุญมาก จังหวัดนครราชสมา 30410  โทร/โทรสาร  0 4433 044 1

                                     ..............................................................

เทคนิคการบริการผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ดีมีประสิทธิภาพ

ชื่อความรู้          เทคนิคการบริการผู้เข้ารับการฝึกอบรมที่ดี มีประสิทธิภาพ
เจ้าของความรู้   นายวีระพล  ปักคำไทย
ตำแหน่ง            นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
สังกัด   ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา
            สถาบันการพัฒนาชุมชน  กรมการพัฒนาชุมชน 

ส่วนนำ (ความเป็นมา/ความสำคัญ)
          กรมการพัฒนาชุมชน โดยสถาบันการพัฒนาชุมชน ได้มอบหมายให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา ดำเนินการฝึกอบรม/พัฒนาศักยภาพผู้เข้าอบรมซึ่งกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ผู้นำชุมชน เครือข่ายการพัฒนาต่างๆ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายแต่ละคนจะมีภูมิหลังในการใช้บริการที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมาที่แตกต่างกัน  ในแต่ละสถานที่ก็จะมีการบริการที่แตกต่างกันไปด้วย
          ข้าพเจ้าในฐานะหัวหน้างานอำนวยการ รับผิดชอบงานในการให้บริการแก่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้ได้รับการบริการที่ดี มีประสิทธิภาพ และมีความพึงพอใจในการบริการระดับมากถึงมากที่สุด จึงจำเป็นต้องมีการให้คำแนะนำในการใช้บริการที่ถูกต้อง และปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น

ส่วนขยาย
          วิธีการในการให้บริการลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย จะดำเนินการแตกต่างกันตามภูมิรู้ของแต่ละบุคคล ดังนี้
          1. เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนในเขตพื้นที่บริการของศูนย์ฯ 
          ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่เคยมาใช้บริการที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมาอยู่แล้ว เพียงแต่ยังเป็นอาคารที่พักและหอประชุมหลังเดิม  และก็จะมีบางคนที่ยังไม่เคยมาใช้บริการ  ดังนั้นข้าพเจ้าก็จะทำการปฐมนิเทศในเช้าวันแรกของการฝึกอบรม โดยจะเริ่มให้คำแนะนำตั้งแต่การใช้บริการหอพักสาธรรีสอร์ท เช่น ช่วงเวลาการเปิด - ปิด ไฟฟ้า .เครื่องปรับอากาศ ,การใช้บริการอินเตอร์เน็ต นอกจากนั้นก็จะมีการแนะนำข้อห้ามเช่น ห้ามดื่มสุรา หรือ สูบบุหรี่ในห้องพัก เป็นต้น
          การใช้บริการหอประชุมมหานครชัยบุรินทร์ แนะนำตั้งแต่การใช้เครื่องมือสื่อสารในหอประชุม จะขอความร่วมมืองดใช้โทรศัพท์หรือหากจำเป็นก็เปิดเสียงสั่นเพื่อไม่รบกวนผู้เข้าอบรมคนอื่นๆ การใช้บริการห้องอาหารก็จะแนะนำให้ช่วยกันรักษาความสะอาด และช่วยกันเก็บภาชนะที่ได้ใช้ทานอาหารไปวางตามตำแหน่งที่ได้ติดป้ายไว้แล้ว  ทั้งนี้เพือความสะอาดเรียบร้อยในสถานที่ราชการ และเป็นการฝึกความมีวินัยไปด้วย
          2. ผู้นำชุมชน/ประชาชนทั่วไป
          ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่ไม่เคยมาใช้บริการที่ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา    ดังนั้นข้าพเจ้าก็จะทำการปฐมนิเทศในเช้าวันแรกของการฝึกอบรม โดยจะเริ่มให้คำแนะนำตั้งแต่ข้อมูลจำนวนเจ้าหน้าที่จำนวนอาคาร สถานที่พื้นที่ของศูนย์ฯ บทบาทหน้าที่ของศูนย์ฯ สถานที่หน่วยงานใกล้เคียง ร้านค้าใกล้ศูนย์ฯ ช่วงเวลาการเดินทางเข้า - ออก ภายในศูนย์ฯ แจ้งเบอร์โทรศัพท์ผู้ดูแลหอพัก ,เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เบอร์โทรหัวหน้างานอำนวยการ เบอร์โทรสถานีตำรวจภูธรหนองบุญมาก เบอร์โทรโรงพยาบาลหนองบุญมาก
          การใช้บริการหอพักสาธรรีสอร์ท เช่น ช่วงเวลาการเปิด - ปิด ไฟฟ้า .เครื่องปรับอากาศ ,การใช้บริการอินเตอร์เน็ต โดยจะทำการอธิบายค่อนข้างละเอียดตั้งแต่วิธีการเปิดไฟฟ้า การเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศในอุณหภูมิที่เหมาะสมคือประมาณ 25 องศาเซลเซียส  การเปิด - ปิดโทรทัศน์ โดยใช้รีโมทตัวใหญ่เปิดเครื่อง รีโมทตัวเล็กเลือกช่องต่างๆ การเลื่อนเปิด - ปิดผ้าม่านโดยมีเชือกอยู่ด้านข้างของผ้าม่านสำหรับการดึงเพื่อเปิด -ปิดนอกจากนั้นก็จะมีการแนะนำข้อห้ามเช่น ห้ามดื่มสุราในห้องพัก หรือ สูบบุหรี่ในห้องพัก เพราะจะมีระบบป้องกันอัคคีภัย แนะนำให้ถอดรองเท้าไว้หน้าห้องพัก การใช้บริการห้องน้ำจะมีฝักบัวอยู่ 2 อัน แบบเล็กและใหญ่ และมีระบบน้ำอุ่น ขอให้ระมัดระวังการเปิดในระดับปานกลาง เพื่อไม่ให้น้ำร้อนเกินไป เป็นต้น
          การใช้บริการหอประชุมมหานครชัยบุรินทร์ แนะนำตั้งแต่การใช้เครื่องมือสื่อสารในหอประชุม จะขอความร่วมมืองดใช้โทรศัพท์หรือหากจำเป็นก็เปิดเสียงสั่นเพื่อไม่รบกวนผู้เข้าอบรมคนอื่นๆ และการใช้ระบบอินเตอร์เน็ตจะมีรหัสการใช้งานติดไว้ที่ประตูทางออกของหอประชุม
          ในส่วนการใช้บริการห้องอาหารก็จะแนะนำให้ช่วยกันรักษาความสะอาด ใช้ระบบการเข้าแถวเพื่อรอรับอาหารและนั่งในจุดที่จัดใว้ให้ และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้วต้องช่วยกันเก็บภาชนะที่ได้ใช้ทานอาหารไปวางตามตำแหน่งที่ได้ติดป้ายใว้ให้แล้ว  ทั้งนี้เพือความสะอาดเรียบร้อยในสถานที่ราชการ และเป็นการฝึกความมีวินัย การมีระเบียบในตัวเอง

บทสรุป
          การบริการลูกค้าที่มารับการฝึกอบรมด้วยการให้บริการที่ดี มีประสิทธิภาพนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญยิ่งในงานบริการที่จะต้องพบปะกับผู้คนที่มีความหลากหลายทั้งด้านอายุ การศึกษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ ดังนั้นข้าพเจ้าในฐานะหัวหน้างานอำนวยการ จะต้องทำการพูดคุยกับผู้เข้าอบรมในบรรยากาศที่เป็นกันเอง ให้ข้อมูลแก่ผู้รับบริการที่ถูกต้อง ชัดเจน ทันท่วงที รวมทั้งจะต้องมีการชี้แนะผู้ดูแลหอพัก หอประชุม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ได้ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในบรรยากาศที่เป็นมิตร บริการที่ดี เพื่อสร้างความประทับใจ ความพึงพอใจให้ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายให้มีความสนใจที่อยากจะมาใช้บริการอีกครั้ง และได้แนะนำถึงการบริการที่ดีของศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา

                                   .....................................................................

เรื่องน่ารู้กับการตรวจรับพัสดุ

ชื่อความรู้        เรื่องน่ารู้กับการตรวจรับพัสดุ
เจ้าของความรู้   นางวรรณมณี  กลมนอก
ตำแหน่ง          เจ้าหน้าที่ธุรการปฏิบัติงาน
สังกัด ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา  สถาบันการพัฒนาชุมชนกรมการพัฒนาชุมชน
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ -     
เรื่องเล่าเข้าประเด็น (เรื่องราว/เหตุการณ์นั้นมีความเป็นมาอย่างไร)
        ด้วยการตรวจรับพัสดุเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งในการจัดซื้อพัสดุและการจัดจ้างทั่วไปที่ไม่ใช่          การจ้างก่อสร้าง เพราะหากคณะกรรมการตรวจรับพัสดุยังไม่ได้ตรวจรับและลงนามในบันทึกการตรวจรับพัสดุแล้ว  จะนำพัสดุดังกล่าวเข้าบัญชีควบคุมพัสดุ หรือจะนำพัสดุดังกล่าวไปใช้งานไม่ได้ซึ่งในการตรวจรับคณะกรรมการตรวจรับพัสดุจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในหน้าที่และข้อกำหนดเงื่อนไขในสัญญา เพราะหากทำการตรวจรับพัสดุที่ไม่เป็นไปตามคุณลักษณะเฉพาะหรือเงื่อนไขข้อกำหนด ในสัญญา หรือตรวจรับโดยขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และทำให้ราชการต้องได้รับความเสียหาย หรือเสียประโยชน์แล้ว คณะกรรมการตรวจรับพัสดุอาจถูกตรวจสอบ และถูกตั้งกรรมการสอบสวนความรับผิดในทางวินัย ทางแพ่ง ฯลฯ ได้ ดังนั้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่พัสดุและผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ ทำหน้าที่ตรวจรับพัสดุ อย่างถูกต้องสอดคล้องกับระเบียบ จึงขอนำระเบียบและสาระสำคัญที่เกี่ยวกับการตรวจรับพัสดุมากล่าว ไว้เพื่อนำไปใช้ประกอบในการตรวจรับพัสดุต่อไป
ส่วนขยาย (กระบวนการ/วิธีการ/เทคนิคการแก้ไขปัญหาที่ประสบผลสำเร็จ/ข้อพึงระวังที่ใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน)
องค์ประกอบของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ
1. ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอย่างน้อย 2 คน โดยปกติแต่งตั้งจากข้าราชการตั้งแต่  ระดับ 3 หรือเทียบเท่าขึ้นไป กรณีกรรมการท่านใดท่านหนึ่ง หรือหลายท่านย้ายไปรับราชการที่อื่น หรือออกจากราชการต้องแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติมให้ครบองค์ประกอบก่อนการตรวจรับ
 2. ซื้อครั้งเดียวกันห้ามแต่งตั้งกรรมการเปิดซองสอบราคา หรือกรรมการพิจารณาผลการ ประกวดราคา  หรือกรรมการประกวดราคาซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นกรรมการ ตรวจรับพัสดุ
 3. การซื้อวงเงินไม่เกิน 10,000 บาท จะแต่งตั้งข้าราชการหรือลูกจ้างประจำคนหนึ่ง ซึ่งมิใช่ผู้จัดซื้อ  เป็นผู้ตรวจรับพัสดุนั้นก็ได้
4. มติคณะกรรมการตรวจรับพัสดุให้ถือมติเอกฉันท์ กรรมการท่านใดไม่เห็นด้วยกับมติของคณะกรรมการ  ให้ทำบันทึกความเห็นแย้งไว้
หน้าที่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ
ระเบียบสำนักนายกรับมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ข้อ 71 ได้กำหนดหน้าที่คณะกรรมการตรวจรับ พัสดุไว้ดังนี้
1.ตรวจรับพัสดุ ณ ที่ทำการของผู้ใช้พัสดุนั้น หรือสถานที่ซึ่งกำหนดไว้ในสัญญาหรือข้อตกลง   การตรวจรับพัสดุ ณ สถานที่อื่นในกรณีที่ไม่มีสัญญาหรือข้อตกลง จะต้องได้รับอนุมัติจากหัวหน้าส่วนราชการก่อน
2.ตรวจรับพัสดุให้ถูกต้องครบถ้วนตามหลักฐานที่ตกลงกันไว้สำหรับกรณีที่มีการทดลองหรือ ตรวจสอบ ในทางเทคนิคหรือทางวิทยาศาสตร์จะเชิญผู้ชำนาญการหรือผู้ทรงคุณวุฒินั้นๆ ก็ได้ ในกรณีจำเป็นที่ไม่สามารถตรวจนับเป็นจำนวนหน่วยทั้งหมดได้ให้ตรวจรับตามหลักวิชาการสถิติ
3. โดยปกติให้ตรวจรับพัสดุในวันที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างนำพัสดุมาส่งและให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็วที่สุด
4. เมื่อตรวจถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้รับพัสดุไว้และถือว่าผู้ขายหรือผู้รับจ้างได้ส่งมอบพัสดุถูกต้อง ครบถ้วนตั้งแต่วันที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างนำพัสดุนั้นมาส่งแล้วมอบแก่เจ้าหน้าที่พัสดุพร้อมกับทำใบตรวจรับโดยลงชื่อไว้เป็นหลักฐานอย่างน้อยสองฉบับ มอบแก่ผู้ขายหรือผู้รับจ้าง 1 ฉบับ และเจ้าหน้าที่ พัสดุ 1 ฉบับ เพื่อดำเนินการเบิกจ่ายเงินจากเงินจากคลังและรายงานให้หัวหน้าส่วนราชการทราบ ในกรณีที่เห็นว่าพัสดุที่ส่งมอบ มีรายละเอียด  ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อตกลงให้ รายงานหัวหน้าส่วนราชการผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ เพื่อทราบหรือสั่งการ แล้วแต่กรณี
 5. ในกรณีที่ผู้ขายที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างส่งมอบพัสดุถูกต้องแต่ไม่ครบจำนวน หรือส่งมอบครบจำนวน แต่ไม่ถูกต้องทั้งหมด ถ้าสัญญาหรือข้อตกลงมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ให้ตรวจรับไว้เฉพาะจำนวนที่ ถูกต้อง  โดยถือปฏิบัติตาม (4) และโดยปกติให้รับรายงานหัวหน้าส่วนราชการเพื่อแจ้งให้ผู้ขายหรือผู้ รับจ้างในจำนวนที่ส่งมอบไม่ครบถ้วนหรือไม่ถูกต้องนับ
 6. การตรวจรับพัสดุที่ประกอบกันเป็นชุดหรือหน่วย ถ้าขาดส่วนประกอบอย่างใดอย่างหนึ่งไปแล้ว จะไม่สามารถใช้การได้โดยสมบูรณ์ให้ถือว่าผู้ขายหรือผู้รับจ้างยังมิได้ส่งมอบพัสดุนั้น และโดยปกติให้รีบรายงานหัวหน้าส่วนราชการเพื่อแจ้งให้ผู้ขายหรือผู้รับจ้างทราบภายใน 3 วันทำการ นับแต่วันที่ตรวจพบ
7.ถ้ากรรมการตรวจรับพัสดุบางคนไม่ยอมรับพัสดุโดยทำความเห็นแย้งไว้ให้เสนอหัวหน้าส่วนราชการ  เพื่อพิจารณาสั่งการ ถ้าหัวหน้าส่วนราชการสั่งการให้รับพัสดุนั้นไว้ จึงดำเนินการตาม (4) หรือ (5) แล้วแต่กรณีกล่าวโดยสรุปก็คือ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจะต้องตรวจรับพัสดุที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างส่งมอบให้ถูกต้องครบถ้วนตามสัญญาที่ได้ตกลงกันไว้ กรณีผู้ขาย หรือผู้รับจ้างส่งมอบไม่ตรง ตามข้อกำหนดสัญญา ให้รายงานหัวหน้า ส่วนราชการผ่านหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุเพื่อทราบ หรือสั่งการ แล้วแต่กรณี
ระยะเวลาในการตรวจรับพัสดุ
ตามหนังสือที่ นร.1305/5855 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2544 ในการตรวจรับพัสดุให้คณะกรรมการตรวจรับพัสดุดำเนินการตรวจรับในวันที่คู่สัญญานำพัสดุมาส่ง มอบ และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จไปโดยเร็วที่สุด แต่อย่างช้าไม่เกิน 5 วันทำการนับแต่วันที่ คู่สัญญานำพัสดุมาส่งมอบ ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวไม่รวมถึงระยะเวลาในการตรวจทดลอง หรือ ตรวจสอบใน ทางเทคนิค หรือทางวิทยาศาสตร์ กรณีที่คณะกรรมการตรวจรับพัสดุไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้น ได้ให้รายงานหัวหน้าส่วนราชการพร้อมด้วยเหตุผลความจำเป็นพร้อมกับสำเนาแจ้งให้คู่สัญญาทราบ ด้วย
  กล่าวโดยสรุป ก็คือ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จะต้องตรวจรับพัสดุในวันที่ผู้ขายนำพัสดุมาส่งมอบและตรวจรับให้เสร็จโดยเร็วที่สุดอย่างช้าไม่เกิน 5 วันทำการ โดยไม่รวมวันที่ใช้ในการตรวจสอบหรือ ทดลอง (ถ้ามี) กรณีมีการตรวจสอบหรือทดลอง ให้ทำการตรวจรับปริมาณให้ครบจำนวนตามสัญญาไว้ ก่อนการตรวจรับจะสมบูรณ์ถูกต้องตามสัญญาก็ต่อเมื่อผลการตรวจสอบหรือทดลองมีผลใช้ได้ จึงจะสามารถดำเนินการเบิกจ่ายเงินค่าพัสดุตามสัญญาต่อไปได้
หากท่านเป็นกรรมการตรวจรับพัสดุควรทำอย่างไร
ถ้าท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจรับพัสดุ ท่านควรดำเนินการดังนี้
1. ศึกษาเงื่อนไขข้อกำหนดในสัญญารายการคุณลักษณะเฉพาะ แคตตาล็อกฯลฯให้เข้าใจก่อนทำการตรวจรับ
2. ทำการตรวจรับตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 71 (ตามข้อ 2)
3. ทำการตรวจรับให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดไม่ควรเกินระยะเวลาตามที่ระเบียบฯ กำหนด คือ 5 วันทำการ  นับแต่ผู้ขายนำพัสดุมาส่ง (ตามข้อ 3)
4. ลงนามในบันทึกการตรวจรับพัสดุ และใบแจ้งสงวนสิทธิการปรับตามสัญญาซื้อหรือจ้าง (กรณีมีการปรับ)
5. กรณีมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาหรือข้อตกลง หรือขยายระยะเวลาทำการตาม สัญญาหรือการงดหรือลดค่าปรับจะต้องเป็นผู้เสนอให้ความเห็นในแต่ละกรณีเพื่อให้ หัวหน้าส่วนราชการ (หรือผู้ได้รับมอบอำนาจ) ใช้ประกอบในการพิจารณาสั่งการในแต่ ละครั้งด้วย ตามนัยหนังสือสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นร (กวพ.) 1305/11948 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2543
6. การตรวจรับคณะกรรมการฯ ต้องมาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง มติของคณะกรรมการฯ ต้องเป็นเอกฉันท์กรณี มีความเห็นแย้งให้บันทึกความเห็นไว้เพื่อเสนอให้หัวหน้าส่วนราชการ พิจารณาสั่งการเมื่อหัวหน้าส่วนราชการสั่งการ อย่างไรก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น

          3. ส่วนสรุป (ผลของการแก้ปัญหา/พัฒนางาน)
    จะเห็นได้ว่าในการตรวจรับพัสดุ คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับ เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาให้ชัดเจนและทำการตรวจรับตามอำนาจหน้าที่ที่กำหนดไว้ในระเบียบฯ ให้ถูกต้องครบถ้วนตามข้อกำหนดของสัญญา หากการตรวจรับพัสดุดำเนินการตรวจรับไปไม่เป็นไปตาม สัญญา ซึ่งทำให้ทางราชการเสียประโยชน์หรือเกิดผลเสียหายกับทางราชการ หรือมีเจตนาที่จะช่วยเหลือผู้ขายหรือผู้รับจ้างแล้ว ความรับผิดชอบในผลที่เกิดขึ้นดังกล่าว คณะกรรมการตรวจรับพัสดุ จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งอาจต้องรับผิดตามบทกำหนดโทษตามระเบียบพัสดุฯ ข้อ 10 หรือผิดตาม ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือทางแพ่ง อีกด้วย และอีกประการหนึ่งที่สำคัญจะต้องเข้าใจว่าคณะกรรมการตรวจรับ พัสดุใช้ในการตรวจรับพัสดุที่ซื้อ และตรวจรับงานจ้างทั่วไปที่ไม่ใช่งานจ้างก่อสร้างด้วย

อนาคตของท่านจะสำเร็จหรือล้มเหลว ล้วนขึ้นอยู่กับการกระทำ.......ของท่านเอง
          4. ที่อยู่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา 114 หมู่ 2 ต.แหลมทอง อ. หนองบุญมาก  จ. นครราชสีมา     เบอร์โทรศัพท์ 044-330441

                               ---------------------------------------------------

เทคนิคการประเมินโครงการฝึกอบรมพัฒนากรระหว่างประจำการ หลักสูตร “การบริหารการเปลี่ยนแปลง” ปีงบประมาณ ๒๕๕๙

ชื่อความรู้ : เทคนิคการประเมินโครงการฝึกอบรมพัฒนากรระหว่างประจำการ
               หลักสูตร “การบริหารการเปลี่ยนแปลง” ปีงบประมาณ ๒๕๕๙
เจ้าของความรู้ : นายทวีศักดิ์  ช่วยเกิด
ตำแหน่ง         : นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
สังกัด  : ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน

ส่วนนำ (ความเป็นมา/ความสำคัญ)
           กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดสรรงบประมาณให้กับสถาบันการพัฒนาชุมชน เพื่อมอบหมายให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา  ดำเนินโครงการฝึกอบรมพัฒนากรระหว่างประจำการหลักสูตร      “การบริหารการเปลี่ยนแปลง” ประจำปีงบประมาณ ๒๕๕๙
           โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความเข้าใจ และมีสมรรถนะที่เหมาะสมในการปฏิบัติงานพัฒนาชุมชน ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันโดยใช้หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน

ส่วนขยาย
วิธีการดำเนินงาน มีวิธีการต่างๆ ดังต่อไปนี้
1) แจ้งประสานกลุ่มเป้าหมายกับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดในพื้นที่ให้บริการ ๕ จังหวัด
2) ประชุมทีมวิทยากร/ผู้เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมเนื้อหาวิชาและกระบวนการฝึกอบรม ประกอบด้วย
2.1)  Happy Rally (การปรับฐานเพื่อการเรียนรู้โลกที่เปลี่ยนแปลง)
2.2) Dynamics for Change และการขับเคลื่อนประเทศไทย (Knowledge Management)
2.3) เล่าขานงานพัฒนาชุมชน (จุดยืน และอุดมการณ์การทำงานพัฒนาชุมชนในอดีต การปรับตัวเพื่อการทำงานยุคการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน) และการจัดการความรู้
2.4) CDD Positioning (ยุทธศาสตร์กรมการพัฒนาชุมชนภายใต้การเปลี่ยนแปลง)
2.5) Thinking for Change ระบบคิดพิชิตการเปลี่ยนแปลง
3) แต่งตั้งทีมวิทยากรเพื่อประสานวิทยากรภายนอก และดำเนินการตามแผนงาน
    4) ประเมินผลการฝึกอบรม รายงานผลการฝึกอบรมให้สถาบันการพัฒนาชุมชน ได้ทราบ
  
เทคนิค : เทคนิคการฝึกอบรม เป็นแบบบูรณาการร่วมกันหลายๆ เทคนิค ได้แก่
               1) การฟังบรรยาย ( Lecture ) การบรรยายเป็นเทคนิควิธีที่ใช้ในการถ่ายทอดความคิดเห็น ความรู้ ตลอดจนข้อมูลข้อเท็จจริงให้แก่ผู้ฟังเป็นเทคนิคที่แพร่หลายและสามารถใช้ประกอบกับเทคนิคอื่นๆ ได้
               2) เกมการบริหาร ( Management Games) เป็นการแข่งขันระหว่างกลุ่มบุคคลตั้งแต่ 2 กลุ่มขึ้นไป โดยแข่งขันเพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง เป็นการให้ปฏิบัติเหมือนเหตุการณ์จริง อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการสื่อสาร การตัดสินใจ การวางแผน การเป็นผู้นำ มนุษย์สัมพันธ์ ฯลฯ ขนาดของกลุ่มในการแข่งขันขึ้นอยู่กับเกมการแข่งขัน วิธีการ ทุกคนในกลุ่มร่วมกันแข่งขันตามเกม
               3) การระดมสมอง ( Brainstorming) เป็นการประชุมกลุ่มเล็กไม่เกิน 15 คน เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีโดย ปราศจากข้อจำกัดหรือกฎใด ๆ ในหัวข้อใดหัวขอหนึ่งหรือปัญหาใดปัญหาหนึ่ง โดยไม่คำนึงว่าจะถูกหรือผิด ดีหรือไม่ดี ความคิดหรือข้อเสนอทุกอย่างจะถูกจดไว้แล้วนำไปกลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง ดั้งนั้นพอเริ่มประชุมต้องมีการเลือกประธานและเลขานุการของกลุ่มเสียก่อน

*ข้อพึงระวังในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานจากการฟังบรรยาย ( Lecture )
1) ประสิทธิภาพของการบรรยายขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของวิทยากร
2) การบรรยายเป็นลักษณะการสื่อสารทางเดียว ถ้าไม่เปิดโอกาสให้มีการซักถาม จะไม่สามารถประเมินได้ว่า ผู้ฟังมีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่บรรยายเพียงใด
3) การบรรยายไม่อาจใช้กับทุกเรื่องได้ เช่น เรื่องที่ต้องการข้อสรุปเพื่อการนำไปปฏิบัติการ
4) ช่วงความสนใจในการฟังของบุคคลแต่ละวัย แต่ละระดับบุคคลในองค์การมีขีดจำกัดหาก
ใช้เวลาในการบรรยายมากเกินไป จะไม่เกิดผลตามความมุ่งหมายที่กำหนด

** ข้อพึงระวังในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานจากเกมการบริหาร ( Management Games)
1) การเลือกเกมที่ไม่เหมาะสมจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ การแบ่งกลุ่มมากเกินไปจะเป็นอุปสรรคในการแข่งขัน และเกมบางชนิดต้องใช้อุปกรณ์และเวลา

***ข้อพึงระวังในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนางานจากการระดมสมอง ( Brainstorming)
1) ได้ความคิดเห็นจำนวนมากแต่คุค่าน้อย และต้องจำกัดกลุ่มผู้เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ปัญหาที่นำมาระดมสมองควรเป็นปัญหาเดียว
บทสรุป
           -ปัจจัยความสำเร็จของเทคนิคการฟังบรรยาย ( Lecture ) คือ การบรรยายเป็นเทคนิคที่ง่ายต่อการใช้ ผู้ที่มีประสบการณ์จะใช้เวลาในการเตรียมตัวน้อยลง และประเด็นเนื้อหาสาระที่ผู้เข้ารับการอบรมจะได้
รับมีมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เวลาในการอบรมด้วยวิธีอื่น
           -ปัจจัยความสำเร็จของเกมการบริหาร ( Management Games) คือ เป็นการย่อสถานการณ์จริงให้ฝึกในช่วงสั้นๆ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีส่วนร่วมช่วยกันคิดช่วยกันทำ ทำให้มีบรรยากาศเป็นกันเอง ได้รับความรู้โดยไม่รู้ตัว
         -ปัจจัยความสำเร็จของเทคนิคการการระดมสมอง ( Brainstorming) คือ ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีส่วนร่วมโดยตรง ช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอ ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ สามารถแก้ปัญหาที่เผชิญอยู่ได้ ทำให้ความคิดหลากหลายในเวลาจำกัดสามารถเร้าความสนใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ดี บรรยากาศเป็นกันเอง

                            ..................................................

เทคนิคในการเขียนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ

ชื่อความรู้           เทคนิคในการเขียนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
เจ้าของความรู้    นางสาวปริยาภรณ์  กิ่งโพธิ์
ตำแหน่ง             เจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญงาน
สังกัด                  ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา  สถาบันการพัฒนาชุมชน
                           กรมการพัฒนาชุมชน
แก้ปัญหาเกี่ยวกับ การเขียนเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ
................................................................................
๑.      เรื่องเล่าเข้าประเด็น
ข้าพเจ้าอยากที่จะบอกเล่าเกี่ยวกับปัญหาที่เคยประสบมาในการปฏิบัติงานในตำแหน่งของเจ้าพนักงาน
การเงินและบัญชีที่ผ่านมา  ในการเขียนค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของบุคลากรในบางครั้งการเขียนหรือการขออนุญาตไปราชการนั้นไม่ครอบคลุมวันที่ในการเดินทาง เช่น มีค่าเช่าที่พักแต่ในการเบิกแต่ในวันที่ขออนุญาตไม่ได้ขออนุญาตเดินทางก่อนล่วงหน้า จึงทำให้ไม่สามารถที่จะเบิกค่าเช่าที่พักได้  เป็นต้น และข้าพเจ้าก็ตรวจสอบเจอ กรณีการเขียนผิดแล้วใช้น้ำยาลบคำผิด ซึ่งในหลักฐานการเงินไม่สามารถลบได้ ข้าพเจ้าก็จะให้ไปเขียนใหม่หรือให้ ลงลายมือชื่อกำกับ เพื่อความถูกต้องและจะได้เขียนถูกต้องในครั้งต่อไป ข้าพเจ้าจึงอยากที่สรุปในส่วน ที่สำคัญๆ เพื่อให้เข้าใจง่ายและเพื่อใช้เป็นแนวทางในการเขียนเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการของบุคลากรให้มีความถูกต้องเป็นไปตามระเบียบฯ
๒.      ส่วนขยาย  ข้อควรปฏิบัติในการขออนุมัติในการเดินทางไปราชการ
๑.  ขออนุมัติเดินทางไปราชการ จะต้องระบุวันที่ให้ครอบคลุมวันที่เดินทางออกจากที่พักหรือหรือ
ทำงาน จนถึงวันที่เดินทางกับถึงที่พักหรือทำงาน
               ๒.  การเดินทางไปราชการ ถ้าสิ้นสุดภารกิจแล้ว จะลาพักผ่อนต่อ จะขออนุมัติต้องปฏิบัติดังนี้
                     -  ขออนุมัติให้ครอบคลุมวันที่ออกจากที่พัก จนถึงวันที่เดินทางกลับถึงที่พักเพื่อจะได้เบิก              ค่าพาหนะเที่ยวไปและเที่ยวกลับได้
                    -  ค่าเบี้ยเลี้ยงให้นับตั้งแต่วันที่ออกเดินทางถึงวันที่สิ้นสุดภารกิจในการเดินทางไปราชการ            จะนำวันที่ลาพักผ่อนมานับรวมเพื่อเบิกเบี้ยเลี้ยงไม่ได้
               ๓.  ถ้ามีการลาพักผ่อนก่อนเดินทางไปราชการ จะต้องขออนุมัติเดินทางไปราชการ ดังนี้
                    ๓.๑  ต้องขออนุมัติให้ครอบคลุมวันที่ออกจากที่พัก จนถึงวันที่เดินทางกลับถึงที่พักเพื่อจะได้เบิก ค่าพาหนะเที่ยวไปและเที่ยวกลับได้
                    ๓.๒  ค่าเบี้ยเลี้ยงให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ปฏิบัติภารกิจจนถึงวันที่เดินทางกลับถึงที่พัก

               ๔.  การเดินทางไปราชการต่างจังหวัด จะเบิกค่าที่พักเกินกว่าอัตราที่กำหนดได้ ถ้าท้องที่นั้นมี          ค่าครองชีพสูงและเป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้เบิกเพิ่มได้เท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน ๒๕% ของอัตราค่าเช่าที่พักแบบเหมาจ่ายหรือเบิกจ่ายจริงตามที่ผู้เดินทางได้เลือกไว้ โดยให้หัวหน้าส่วนราชการอนุมัติ  ทั้งนี้ต้องมีใบเสร็จรับเงินแนบ          และต้องทำบันทึกชี้แจงเหตุผลว่าทำไมต้องพักโรงแรมนั้น
               ๕.  กรณีเดินทางไปราชการเป็นหมู่คณะต้องเบิกค่าที่พักเหมือนกันทั้งคณะ โดยต้องขออนุมัติไว้ก่อนเดินทางว่าจะเบิกแบบเหมาจ่ายหรือเบิกตามที่จ่ายจริงไม่เกินที่ระเบียบกำหนด
               ๖.  กรณีการเดินทางไปราชการโดยรถยนต์ราชการพร้อมพนักงานขับรถ ผู้เดินทางจะขอเบิกค่าที่พักแบบเบิกจ่ายจริง และพนักงานขับรถจะเบิกค่าที่พักแบบเหมาจ่ายไม่ได้ ต้องเบิกค่าที่พักเหมือนทั้งผู้เดินทางและพนักงานขับรถ
               ๗.  การเดินทางไปราชการหลายจังหวัด ตลอดเส้นทางการเดินทางต้องเบิกค่าที่พักเหมือนกันตลอดเส้นทาง โดยต้องขออนุมัติไว้ก่อนล่วงหน้าก่อนการเดินทางว่าจะเบิกค่าที่พักแบบเหมาจ่ายหรือเบิกตามที่จ่ายจริง      ไม่เกินอัตราที่ระเบียบกำหนดตลอดการเดินทาง
               ๘.  การขออนุมัติจ้างเหมารถให้รวมค่าน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ในค่าจ้างเหมารถด้วย
               ๙.  การเดินทางไปราชการโดยรถราชการแล้วรถราชการยางแตก จะถือว่าค่าปะยางเป็นค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการเดินทางไปราชการ ได้ โดยให้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปก่อนได้ แล้วรีบรายงานขอความเห็นต่อผู้บังคับบัญชาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ ข้อ ๓๙ (๒) บอกเหตุผลว่าถ้าไม่ปะยางรถราชการจะไม่สามารถเดินทางต่อได้ และการปะยางรถไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานตามปกติ
               ๑๐.  การเดินทางไปราชการประจำ จะเบิกค่าใช้จ่ายในการขนย้ายสิ่งของส่วนตัวและค่าเบี้ยเลี้ยงจาก หน่วยงานใหม่ในกรณีที่อยู่ต่างสังกัดกับสถานที่ที่ปฏิบัติงานเดิม แต่ถ้าอยู่สังกัดเดียวกันจะเบิกจ่ายหน่วยงานใดก็ได้แล้วแต่
               ๑๑.  อัตราค่าเช่าที่พัก
                    -    ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ระดับ ๘ ลงมา
                         เบิกจ่ายจริง ห้องพักเดี่ยว  ๑,๕๐๐  บาท  ห้องพักคู่  ๘๕๐  บาท  เหมาจ่าย ๘๐๐ บาท
-          ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า  ระดับ ๙
เบิกจ่ายจริง ห้องพักเดี่ยว  ๒,๒๐๐  บาท  ห้องพักคู่  ๑,๒๐๐  บาท  เหมาจ่าย ๑,๒๐๐ บาท
-          ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า  ระดับ ๑๐
เบิกจ่ายจริง ห้องพักเดี่ยว  ๒,๕๐๐  บาท  ห้องพักคู่  ๑,๔๐๐  บาท
          การเบิกค่าเช่าที่พักเทาที่จายจริง ผู้เดินทางไปราชการจะใชใบเสร็จรับเงิน  ใบแจงรายการของโรงแรม หรือที่พักแรมที่มีขอความแสดงวาได้รับชําระเงินคาเชาที่พักเรียบร้อยแล้ว โดยเจ้าหน้าที่รับเงินของโรงแรมหรือที่พักแรมลงลายมือชื่อ วัน เดือน ป และจํานวนเงินที่ได้รับ เพื่อเป็นหลักฐานในการขอเบิกคาเชาที่พัก              
การเบิกคาเชาที่พักในอัตราห้องพักคูที่ผู้เดินทางไปราชการใชสิทธิเบิกคาใช้จายในการเดินทาง
อยูตางสังกัดกัน แตตองใชใบเสร็จรับเงินหรือใบแจงรายการของโรงแรม หรือที่พักแรม ชุดเดียวกันให้ผู้เดินทางฝายหนึ่งใช้ต้นฉบับ อีกฝายหนึ่งใชสําเนาภาพถายที่ผู้นั้นรับรองสําเนาถูกต้อง โดยใหมีบันทึกแนบท้ายระบุวารายการใดที่ฝายหนึ่งฝายใดจะเปนผู้เบิกฝายเดียว ทั้งคูจะเปนผูเบิกฝายละเปนจํานวนเทาใด ทั้งต้นฉบับและฉบับสําเนาภาพ  ถายและลงลายมือชื่อ ของผูเดินทางทั้งคูในแตละฉบับ

               ๑๒.  อัตราเบี้ยเลี้ยงเดินทางไปราชการในราชอาณาจักร ในลักษณะเหมาจ่าย
                     - ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า ระดับ ๘ ลงมา    ๒๔๐  บาท/คน/วัน
       - ผู้ดำรงตำแหน่งเทียบเท่า  ระดับ ๙ ขึ้นไป   ๒๗๐  บาท/คน/วัน
๓.      ส่วนสรุป  
เพื่อให้การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ มีความถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามระเบียบที่
เกี่ยวข้อง และมีประสิทธิภาพ ลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงอยากขอแบ่งปันความรู้ที่ได้ศึกษามาให้กับบุคลากรที่สนใจนำไปใช้ประโยชน์
๔.      ที่อยู่/เบอร์โทรศัพท์
ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา
๑๑๔ หมู่ ๒ ตำบลแหลมทอง  อำเภอหนองบุญมาก
จังหวัดนครราชสีมา ๓๐๓๔๐
                  เบอร์โทรศัพท์ ๐๔๔๓๓๐๔๔๑

การจัดเก็บแบบประเมินโครงการอย่างมีประสิทธิภาพ

ชื่อความรู้          การจัดเก็บแบบประเมินอย่างมีประสิทธิภาพ
เจ้าของความรู้    นางสาวเมธยา ขะจวง
ตำแหน่ง            นักทรัพยากรบุคคล (พนักงานราชการ)
สังกัด   ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา สถาบันการพัฒนาชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน
          การประเมินโครงการเป็นเครื่องมือหนึ่งของการวัดถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่าบรรลุถึงวัตถุประสงค์มากน้อยเพียงใด และมีข้อบกพร่องใดที่ควรนำไปปรับปรุง เป็นประโยชน์และมีความจำเป็นอย่างมากในการฝึกอบรม ซึ่งการประเมินโครงการมักจะทำหลังจากได้ฝึกอบรมเสร็จแล้ว เพราะสามารถชี้วัดได้ว่าการฝึกอบรมนั้นผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้ความเข้าใจมากน้อยเพียงใด พึงพอใจในระดับใด และมีข้อเสนอแนะใดบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ในการต่อการฝึกอบรมต่อไป
          การประเมินโครงการต้องมีขั้นตอนเช่นกัน เพื่อเป็นการสะดวกในการอธิบาย และการจัดเก็บ โดยหลังจากที่เสร็จการอบรม จะมีเวลาพักทานอาหารว่างและให้ผู้เข้าอบรมได้ทำกิจธุระส่วนตัว ในระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่จะเป็นผู้วางใบประเมินโครงการบนโต๊ะของผู้เข้าร่วมอบรม เมื่อถึงเวลาผู้เข้าอบรมเข้าห้องครบทุกคนแล้ว ประกาศแจ้งให้ทราบในการทำประเมิน โดยให้ทำพร้อมๆกันและอ่านรายละเอียดทีละข้อ เมื่อผู้เข้าอบรมสงสัยยกมือถามคำถามจะสามารถแจงรายละเอียดและเป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันไม่เป็นการเสียเวลา ทำให้ผลการประเมินนั้นมีประสิทธิผล และเมื่อถึงข้อสุดท้ายในเรื่องการเสนอแนะอื่นๆ ซึ่งตรงนี้อาจใช้เวลาไม่มากแต่มีความสำคัญ เพราะสามารถบอกความเข้าใจ ความรู้สึกของผู้เข้าอบรมได้ชัดเจนในขณะที่เข้าฝึกอบรมว่ามีการเรียนรู้มากน้อยเพียงใด อะไรที่ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ระหว่างการฝึกอบรม ข้อบกพร่องใดที่ต้องแก้ไข เมื่อผู้เข้าร่วมฝึกอบรมทำแบบประเมินโครงการเสร็จแล้วทุกคน ให้รวบรวมไว้ที่หัวแถวของแต่ละแถว เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้รวบรวมเก็บไว้และมีความสะดวกในการเก็บ
          การประเมินโครงการยังมีข้อพึงระวังเช่นกัน โดยต้องจัดเก็บแบบประเมินโครงการได้ตามจำนวนผู้เข้าร่วมฝึกอบรมโครงการที่ถูกต้องตามจำนวนกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ และจำนวนเจ้าหน้าที่ที่จัดเก็บแบบประเมินโครงการต้องไม่มากไปหรือน้อยไป เช่นถ้าจำนวนผู้เข้าฝึกอบรมมีจำนวน ๘๐ คน ควรมีเจ้าหน้าที่จัดเก็บประมาณ ๒ – ๓ คน แต่ถ้าจำนวนผู้เข้าฝึกอบรมมากกว่านั้นอาจมีเจ้าหน้าที่จัดเก็บ ๔ – ๕ คน แล้วแต่ความเหมาะสม

                                ................................................................

เทคนิคการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน “หลักสูตรผู้นำการพัฒนา”

ชื่อความรู้     เทคนิคการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน
                “หลักสูตรผู้นำการพัฒนา”
เจ้าของความรู้      สิบตำรวจโทสุริยา   บุญเรือง
ตำแหน่ง             นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการ
สังกัด          ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา  สถาบันการพัฒนาชุมชน 
                 กรมการพัฒนาชุมชน

              ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนนครราชสีมา มีวิสัยทัศน์ ศูนย์ฝึกอบรมประชาชนและพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาชุมชนที่ได้มาตรฐานระดับประเทศ มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการฝึกอบรม และได้ดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน“หลักสูตรผู้นำการพัฒนา” โดยมีสถาบันการพัฒนาชุมชนเป็นแกนหลักในการกำหนดหลักสูตรและกลุ่มเป้าหมาย และให้ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทั้ง 11 ศูนย์เข้าร่วมกำหนดและพัฒนาหลักหลักสูตรดังกล่าวมาโดยตลอด ศูนย์ฯนครราชสีมาได้ให้กลุ่มงานพัฒนาทรัพยากรบุคคลรับผิดชอบดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน“หลักสูตรผู้นำการพัฒนา”และให้สิบตำรวจโทสุริยา บุญเรือง นักทรัพยากรบุคคลชำนาญการเป็นเจ้าหน้าที่บริหารโครงการ
               กระบวนการบริหารโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชน“หลักสูตรผู้นำการพัฒนา”  ให้มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เป็นการจัดการ ควบคุมเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมาย เหมาะสมกับเวลาและมีคุณภาพบรรลุวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในโครงการโดยใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม โดยเริ่มจากการดำเนินงานเตรียมการก่อนฝึกอบรมได้เชิญประชุมครั้งแรกเพื่อพิจารณาโครงการ /งบประมาณ/กำหนดวันเวลาอบรม และคัดเลือกวิทยากรประรายวิชาซึ่งต้องมีความชำนาญในเรื่องนั้น การเตรียมสถานที่ฝึกอบห้องประชุม ห้องน้ำ ห้องรับประทานอาหาร-อาหารว่าง ห้องพัก โดยหารือร่วมกันและกำหนดคนรับผิดชอบในแต่ละเรื่อง ต่อมาดำเนินาการเขียนขออนุมัติโครงการ /กำหนดการ /งบประมาณ /หนังสือประสานจังหวัดในเขตรับผิดชอบประสานกลุ่มเป้าหมายและกำหนดการฝึกอบรม ยืมเงินทดรองราชการ /ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม เป็นรุ่นๆของการฝึกอบรมเพราะทางศูนย์ฯได้รับทั้งหมด 12 รุ่นละ 80 คนและต้องเตรียมบุคคลยืมเงินในรุ่นต่อไป จากนั้นเชิญประชุมครั้งที่ 2 ร่วมกำหนดการวางแผนกิจกรรมการฝึกอบรม (เช่นกิจกรรมสำหรับพิธีเปิด –ปิด ใครเป็นพิธีกร ใครกล่าวรายงาน เชิญใครเป็นประธาน) จากนั้นจัดเตรียมเอกสารประกอบการฝึกอบรม เตรียมใบประกาศนียบัตร และขอแสกนลายมืออธิบดีลงนามในใบประกาศ และเตรียมพิธีกรในพิธีเปิด –ปิดโครงการและรูปแบบพิธีกร จัดเตรียมอุปกรณ์ฝึกอบรม/โสตทัศนูปกรณ์ (เช่นคอมพิวเตอร์ตัวหลัก, เครืองฉายจ่อภาพ, ไมค์เป็นต้น) เตรียมใบลงชื่อลงทะเบียนผู้เข้าอบรม เอกสารการรับค่าพาหนะของผู้เข้ารับการฝึกอบรม เตรียมแบบประเมินโครงการ เตรียมเอกสารใบรับเงินค่าตอบแทนวิทยากร เตรียมกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์ และประชุมคณะทำงานครั้งที่ 3 เพื่อเตรียมความพร้อมอีกครั้งกำหนดรายละเอียดแต่ละชั่วโมงตามตารางฝึกอบรมว่าใครทำอะไรใครเป็นตัวหลักใครเป็นตัวเสริมเพื่อบริหารความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในโครงการ
              การดำเนินงานระหว่างการฝึกอบรม เริ่มจากการสำรวจความพร้อมในห้องประชุม(การจัดโต๊ะในห้องฝึกอบรม ไมค์ ขาตั้งไมค์ เป็นต้น) คำกล่าวรายงาน/คำกล่าวเปิด ธูปเทียนหน้าพระประธาน โต๊ะประธาน ความสะอาด แอร์เป็นต้น การลงทะเบียน ต้อนรับและอำนวยความสะดวกประธาน/ผู้เข้ารับการฝึกอบรม ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการ เครื่องดื่มสำหรับประธาน/ผู้เข้าร่วมประชุม พิธีเปิดการอบรม กล่าวแนะนำและขอบคุณวิทยากร ดูแลสื่อ โสตทัศนูปกรณ์ การให้บริการและอำนวยความสะดวกในระหว่างการฝึกอบรม ถ่ายรูปทำเนียบรุ่นผู้นำ ดูแลความพร้อมเรื่องของอาหาร/อาหารว่างและเครื่องดื่ม แจกแบบประเมิน และรวบรวมเก็บแบบประเมินและเอกสารในการฝึกอบรม มอบประกาศนียบัตรแก่ผู้ผ่านการฝึกอบรม ปิดการฝึกอบรมแล้วถ่ายรูปร่วมกัน จ่ายค่าตอบแทนวิทยากร(ฝ่ายอำนวยการรับผิดชอบ)
              การดำเนินการหลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม การส่งใบสำคัญหักล้างยืมเงิน (ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม) ประเมินผลการฝึกอบรม สรุปจัดทำรูปเล่มส่งให้สถาบันการพัฒนาชุมช ศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนทุกศูนย์ และกองแผนงานกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อเผยแพร่ความรู้และใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้อง ประชุมคณะทำงานเพื่อทบทวนผลการดำเนินงานและปัญหา อุปสรรคและหาแนวทางแก้ไข และเตรียมเข้าร่วมพัฒนา/ปรับปรุงหลักสูตร
             ปัจจัยแห่งความสำเร็จคือ เมื่อได้มีการเขียนโครงการฝึกอบรม และเสนอขออนุมัติไปตามขั้นตอนเรียบร้อย เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการฝึกอบรมควรจะต้องร่วมกันวางแผนดำเนินการฝึกอบรม ซึ่งมีลักษณะเป็นแผนปฏิบัติการหรือที่เรียกว่า Action Plan ซึ่งระบุถึงกิจกรรมต่าง ๆ ขั้นตอน และแนวทางที่จะดำเนินการอย่างละเอียด พร้อมทั้งระบุลำดับการกระทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยว่าสิ่งใดจะต้องดำเนินการก่อน - หลัง ตลอดจน กำหนดตัวบุคคลผู้รับผิดชอบดำเนินการสำหรับแต่ละกิจกรรมอันเป็นการแบ่งงานกันทำไว้ด้วยแล้วเพื่อช่วยให้การดำเนินงาน เป็นไปอย่างมีระบบ เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่อย่างมีขั้นตอน รู้ข้อมูล เหตุผลความจำเป็น และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิด ความร่วมมือ ประสานงานกันระหว่างผู้มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกัน สะดวกในการติดตามผลการปฏิบัติงาน ตลอดจน อาจช่วยลดปัญหาและอุปสรรค และช่วยทำให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้
             เพื่อให้การบริหารโครงการฝึกอบรมดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ เราอาจแบ่งการวางแผนการดำเนินงานฝึกอบรม ออกเป็น 3 ส่วน คือ               
               - การดำเนินงานสำหรับระยะเวลาก่อนการฝึกอบรม
               - การดำเนินงานสำหรับช่วงระหว่างการฝึกอบรม
               - การดำเนินงานสำหรับช่วงหลังการฝึกอบรม


                             ..........................................................................